หาดทราย |
11 กุมภาพันธ์ 2556 | อ่านแล้ว 16 ครั้ง |
".. เนื้อหาบอกเล่าสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งด้านอ่าวไทย การเสียสมดุลเนื่องจากสิ่งแปลกปลอม ที่ส่วนใหญ่คือสิ่งก่อสร้างชายฝั่งโดยภาครัฐ .."
หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าน้ำทะเลได้กัดเซาะชายฝั่งอ่าวไทยเสียหายไปแล้วมากมาย
จากข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เมื่อปี 2550 ระบุว่า ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา มีการกัดเซาะไปแล้วถึง 29.3 % โดยเสียหายรุนแรงไปประมาณ 485 กิโลเมตร โดยสิ่งที่เป็นปัญหาหลักของเรื่องนี้
กลับไม่ใช่ธรรมชาติ แต่เป็นเพราะสิ่งก่อสร้างที่เกิดจากภาครัฐ
ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ใช่ว่าจะไม่มีใครทราบ อย่างน้อยก็มีเครือข่ายเฝ้าระวังรักษาหาดทราย ซึ่งช่วยกันเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการแก้ปัญหาอย่างเข้าใจและถูกวิธี
ล่าสุด เครือข่ายนี้โดยโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะฯ : กรณีการใช้ประโยชน์หาดทรายและการอนุรักษ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้จัดพิมพ์หนังสือ “หาดทราย มรดกทางธรรมชาติที่นับวันจะสูญสิ้น” ขึ้นมาเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับหาดทราย
พิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2554 คณะผู้เขียนประกอบด้วยสมบูรณ์ พรพิเนตพงศ์, กัลยาณี พรพิเนตพงศ์, สมัย โกรทินธาคม และดนุชัย สุรางค์ศรีรัฐ โดยมีพรรณิกา โสตถิพันธุ์ และโสภิณ จิระเกียรติกุล เป็นบรรณาธิการ
เนื้อหาบอกเล่าสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งด้านอ่าวไทย การเสียสมดุลเนื่องจากสิ่งแปลกปลอม
ที่ส่วนใหญ่คือสิ่งก่อสร้างชายฝั่งโดยภาครัฐ อาทิ เขื่อนกันคลื่น คันดักทราย ซึ่งสร้างขึ้นมาจากความไม่เข้าใจเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายตามธรรมชาติของหาดทราย ที่จะย้ายไปชั่วคราวในฤดูมรสุม และจะกลับมาทับถมตามเดิมในฤดูลมสงบ
และหลายแห่งก็ส่อว่า สร้างขึ้นจากการแสวงหาประโยชน์จากคนบางกลุ่ม เหมือนกับการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่หลายแห่งที่มีข่าวการทุจริตว่ามีทั้งนักการเมือง ข้าราชการ เข้าไปเกี่ยวข้อง
ใครสนใจหนังสือเล่มนี้ ท้ายเล่มเขาระบุว่า ดาวโหลดได้ที่ www.bwn.psu.ac.th เว็บไซต์ของเครือข่ายเฝ้าระวังรักษาหาดทราย ซึ่งจะมีข้อมูลอื่นๆ
และความเคลื่อนไหวของเครือข่ายนี้อีกมาก ให้ได้ติดตามกัน..
ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม 2554
หมายเหตุ: ขอขอบคุณผู้เขียนที่อนุญาตให้เรานำผลงานมาเผยแพร่
ที่มา - http://www.dekchildkong.com