เสียงถึงว่าที่ผู้ว่ากทม. ตอน 3 ...ปัญหาขยะในกรุงเทพมหานคร |
12 กุมภาพันธ์ 2556 | อ่านแล้ว 32 ครั้ง |
ขอขอบคุณภาพจาก http://www.npc-se.co.th
เสียงถึงว่าที่ผู้ว่ากทม. ตอน 3 ...ปัญหาขยะในกรุงเทพมหานคร
ปัญหาการกำจัดขยะดูเสมือนว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยที่ใครๆก็สามารถจัดการได้ ในความคิดของเจ้าของบ้านทั้งหลาย การกำจัดขยะคือการเอาเศษเล็กเศษอาหารสิ่งสกปรกทั้งหลายยัดใส่ถุงแล้วให้พนักเก็บขยะขับรถมารับถุงเหล่านั้นแบกใส่รถขึ้นไป
แต่ทว่านั่นไม่ใช่การกำจัดขยะ แต่เป็นการทิ้งขยะ!
เพราะขยะนั้นมีหลายประเภท ทั้งย่อยสลายง่าย ย่อยสลายยาก มันจึงต้องการการแยกขยะเพื่อนำไปผ่านกระบวนการกำจัดที่เหมาะสมของขยะแต่ละประเภท
การยัดๆใส่ถุงโดยไม่แยกประเภทขยะจึงเสมือนเป็นการทิ้งภาระให้อีกฝ่ายรับผิดชอบเสียมากกว่า
นอกจากนี้ พนักงานเก็บขยะทั้งหลายก็ไม่ได้ตามเก็บไปเสียทุกตรอกซอกซอย ซอยเล็กซอยน้อยด้วย
ในละแวกเขตหนองแขม ชานเมืองกรุงเทพมหานคร เป็นแหล่งเก็บขยะแหล่งใหญ่ จากการลงพื้นที่สำรวจนั้นพบปัญหาเกี่ยวกับขยะในหลายประเด็นตั้งแต่ในระดับครัวเรือน จนกระทั่งการกำจัดทิ้งจากแหล่งใหญ่
ในระดับครัวเรือน ตามบ้านเรือนต่างๆแทบจะไม่เคยแยกขยะกันด้วยซ้ำไป และโยนภาระนี้ให้ผู้เก็บขยะ
แม้ว่ากรุงเทพมหานครจะมีการรณรงค์ให้แยกขยะ 3R อยู่บ้างคือ Reduce Reuse และ Recycle แต่ก็ขาดการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง
เมื่อทำเป็นช่วงๆ ไม่ได้จริงจังกับปัญหานี้จึงส่งผลให้เกิดปัญหาขยะล้นเมืองเพราะกำจัดขยะแต่ละประเภทยาก
พนักงานเก็บขยะมีความลำบากในการแยกขยะ
แต่ละวันพวกเขาทำได้เพียงแค่ไปรับถุงดำที่มีคนหยอดใส่ไว้ในถังแล้วแบกขึ้นรถเท่านั้นเพราะมีขยะจำนวนมากมาย
ส่วนผู้ที่มีบทบาทในการแยกขยะดูเหมือนจะเป็นรถเข็นซาเล้งเสียอีกที่คอยคัดแยกขยะเพื่อนำไปขาย
ได้คุยกับซาเล้งบางคน เขาบอกว่า พวกเขามีความเชื่อว่า ขยะคือทรัพย์สิน ขยะมีเงิน และขยะนั้นมีค่า
ได้ฟังแล้วนึกถึงบริษัทยักษ์ใหญ่หลายๆแห่งเองก็มีการรับซื้อขยะเพื่อนำไปทำธุรกิจสร้างรายได้ในอนาคต เช่น บริษัทค้าสากลซีเมนต์ไทยในเครือซีเมนต์ไทย
หรือแม้แต่ขยะมูลฝอยเองก็มีค่าสามารถนำไปแปรรูปเป็นปุ๋ยชีวภาพ สร้างมูลค่าได้
ส่วนปัญหาอีกข้อหนึ่งที่เกี่ยวกับขยะก็คือ ในกรุงเทพมหานครมีขยะมากถึง 10,000 ตันต่อวัน
เมื่อทรัพยากรเหลือใช้มีมาก แต่ที่รองรับขยะมีน้อย ที่รองรับในที่นี้หมายถึงถังขยะ สังเกตได้เลยว่า ตามสถานที่ต่างๆที่มีการทิ้งขยะบนพื้นถนน นั่นก็เป็นเพราะไม่มีถังไว้รองรับขยะ
แม้จะมีป้าย “ห้ามทิ้งขยะที่นี่” หรือป้ายอื่นๆแต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งได้
คนจำนวนมากเลือกที่จะทิ้งมันทันที ไม่ก็เก็บใส่กระเป๋าตัวเองไปหาที่ทิ้ง เป็นเพราะเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นขยะ ก็คงไม่มีใครอยากเก็บมันไว้
ปัญหาที่ว่าไม่มีที่รองรับขยะยังเป็นปัญหาใหญ่ในบางชุมชน จะขอกล่าวถึงชุมชน หลังสน.เพชรเกษม ซึ่งเป็นชุมชนที่มีซอยเล็กซอยน้อยมากมาย
บริเวณนี้รถขยะไม่สามารถเข้าถึงได้ จึงไม่มีพนักงานเก็บขยะคนใดเข้าไปเก็บ ทำให้ชาวบ้านต้องนำขยะออกมาทิ้งหน้าปากซอย ซึ่งส่วนมากก็เป็นที่ดินส่วนบุคคล
เจ้าของที่ทั้งหลายก็ไม่อยากให้มีขยะมาวางทิ้งหน้าบ้านจึงไม่อนุญาตให้นำมาทิ้ง ชาวบ้านทั้งหลายก็เลยเอามาทิ้งบนสะพานข้ามคลองซึ่งเป็นที่สาธารณะ ไม่มีใครห้ามทิ้งขยะ
ผลคือแถวนี้จึงมีขยะกองมโหฬารในทุกๆวัน และรถขยะเองก็ไม่ได้เก็บขยะทุกวันเสียด้วย
และขยะกองนั้นจึงใหญ่ขึ้นๆ นอกจากจะส่งกลิ่นเหม็นแล้วยังกีดขวางทางจราจรอีกต่างหาก
ปัญหาก็วกกลับไปกระทบที่ตัวชาวชุมชนในบริเวณนั้น
หากจะให้แก้ปัญหาในส่วนนี้ ก็คือควรที่จะให้พนักงานเก็บขยะเข้าไปเก็บเสีย หรือไม่ก็สร้างจุดรองรับขยะให้เป็นที่เป็นทางจะได้ไม่เดือดร้อนกันทั้งชาวบ้านและการจราจร
การมีส่วนร่วมของประชาชนโดยการลดปริมาณขยะด้วยการคัดแยกขยะจากครัวเรือนเป็นอีกวิธีในการกำจัดขยะในกทม.เช่นกัน
ในสมัยหนึ่งทราบว่า กรุงเทพมหานครมีการรณรงค์การแยกขยะ รวมถึงการลดขยะเป็นเภทถุงพลาสติก ด้วยการเสนอให้ผู้ไปจับจ่ายซื้อของในตลาด หากใช้ถุงผ้าจะได้ลดราคา 1 บาท ในการซื้อของทุกๆ 100 บาท
ในขณะเดียวกัน หากผู้ซื้อผู้บริโภคใช้ถุงพลาสติกต้องจ่ายค่าถุงใบละ1 บาท
การสร้างเงื่อนไขแบบนี้เป็นเรื่องน่าสนใจ และอยากเห็นแนวคิดที่เป็นทางเลือกเหล่านี้จากบรรดาว่าที่ผู้ว่ากทม.ที่เสนอตัวในการลงรับสมัครเลือกตั้งผู้บริหารกรุงเทพมหานครในครั้งนี้
ทั้งนี้ควรที่จะมีการรณรงค์แยกขยะอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ทำเป็นพักๆหลังชนะเลือกตั้ง
การสนับสนุนให้มีการแยกขยะกันเองเสียตั้งแต่ในระดับครัวเรือน อาจทำให้พวกเขาได้พบขุมทรัพย์ หรือช่องทางในการทำธุรกิจก็เป็นได้
มันอาจจะดีกว่าที่นำขยะมาทิ้งแบบไร้ค่า และสร้างความเดือดร้อนให้พวกเรากันเอง หาก กทม.จะให้ความสำคัญกับการคัดแยกขยะของครัวเรือนด้วยการมีมาตรการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะของประชาชนอย่างจริงจังและอย่างถูกต้องนอกเหนือไปจากการหาระบบจัดการขยะที่ดีมารองรับ
จากวิกฤติขยะล้นเมืองที่เคยเน่าเหม็น ก็จะกลับมาสร้างมูลค่ามหาศาล
เรื่องโดย ปริยากร กำเหนิดอุย ไอซีทีนิเทศศาสตร์ ศิลปากร ปี 2