ที่สุดของศิลปากร |
25 กุมภาพันธ์ 2556 | อ่านแล้ว 1557 ครั้ง |
ขอขอบคุณภาพประกอบจากhttp://blog.eduzones.com/moowarn/81428
ที่สุดของศิลปากร
ความสำเร็จในชีวิตของคนเราไม่ใช่สิ่งที่ได้มาง่ายๆ
การที่ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้นั้นต้องมีพื้นฐานมาจากการเรียนรู้ที่สัมฤทธิ์ผลซึ่งจำเป็นต้องใช้ความเพียรพยายามและการมีวินัยในตนเองของตัวผู้เรียนเป็นหลัก
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ คุณครูผู้สอนและสถานศึกษาที่ช่วยให้ผู้เรียนไปสู่จุดมุ่งหมายได้ตามที่คาดหวังไว้ อีกทั้งยังช่วยขัดเกลาให้เติบโตไปเป็นผู้มีคุณธรรมในสังคมอีกด้วย ดังคำกลอนที่เคยมีผู้กล่าวไว้ว่า
ครูทำงานสอนคนให้เปรื่องปราชญ์
หนึ่งสอนศาสตร์คุณธรรมศาสนา
ด้วยสองสิ่งช่วยสร้างคน สร้างปัญญา
สร้างคุณค่าสอนศีลธรรมประจำใจ
มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นหนึ่งในสถานศึกษาของประเทศไทยที่ได้ผลิตคนคุณภาพออกสู่สังคมเป็นจำนวนมาก
สิ่งหนึ่งที่ชาวศิลปากรรำลึกถึงอยู่เสมอก็คือ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (คอร์ราโด เฟโรชี) ผู้เป็นทั้งผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยและครูผู้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้แก่นักศึกษา
ศาสตราจารย์ศิลป์ได้สอนทั้งด้านวิชาการและการใช้ชีวิต นอกจากนี้ท่านยังได้ปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับนักศึกษาโดยการทำประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยด้วยการรับราชการเป็นช่างปั้นประจำกรมศิลปากร
อีกทั้งท่านยังทุ่มเทเวลาให้กับการทำงานเป็นอย่างมากและยังช่วยวางรากฐานและพัฒนาการศึกษาศิลปะอย่างมีระบบแบบแผนจนก่อให้เกิดมหาวิทยาลัยศิลปากรขึ้น
กล่าวได้ว่าศาสตราจารย์ศิลป์เป็นครูผู้สร้างให้มีมหาวิทยาลัยศิลปากรได้จนถึงทุกวันนี้
มหาวิทยาลัยศิลปากรนี้ได้ประกอบด้วยคณะต่างๆมากมายรวมไปถึงคณะที่ผู้เขียนศึกษาอยู่คือ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาขานิเทศศาสตร์
หลังจากเรียนที่นี่มาเกือบปีแล้วก็สัมผัสถึงความดูแลเอาใจใส่จากคณบดีและคณาจารย์ทุกท่าน โดยคณาจารย์ทุกท่านได้มีการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ
อีกทั้งผู้บรรยายในแต่ละรายวิชาเป็นผู้มีความสามารถและมีความเชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ เป็นอย่างดี ทำให้นักศึกษาสามารถขอคำแนะนำจากคณาจารย์ได้อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ทางคณะยังจัดให้มีการแนะแนวทางการทำงานจากผู้ที่ประกอบอาชีพ นั้นๆโดยตรง และยังได้มีการนำผู้ที่ประกอบอาชีพนั้นๆมาร่วมสอนในชั่วโมงเรียน ทำให้นักศึกษาได้ทราบถึงลักษณะของการทำงานจากผู้มีประสบการณ์
และนักศึกษาสามารถนำไปประกอบการตัดสินใจในการเลือกอาชีพต่อไปได้
การเรียนที่นี้ไม่ได้รับเพียงแต่ความรู้เท่านั้น แต่ยังได้เรียนรู้การปรับตัวเพื่ออยู่ในสังคม การเสียสละเพื่อส่วนรวมจากกิจกรรมที่ทางมหาวิทยาลัยและรุ่นพี่ได้จัดทำขึ้นมา อีกทั้งกิจกรรมเหล่านี้ยังก่อให้เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความประทับใจในมิตรภาพที่ดีจากทั้งรุ่นพี่ และเพื่อนใหม่อย่างมาก
ถือได้ว่ารุ่นพี่และเพื่อนๆเปรียบเสมือนครูอีกคนหนึ่งของผู้เขียนที่ได้สอนประสบการณ์ชีวิตที่ไม่สามารถหาเรียนได้จากในห้องเรียน
สุดท้าย ถ้าถามว่าที่สุดของที่มหาวิทยาลัยศิลปากรนี้คืออะไร
ตอบได้ว่า การเรียนรู้จากทุกคนซึ่งถือว่าเป็นครู นั่นคือความเป็นที่สุด
เรื่องโดย อรุณวรรณ โชติกุล ไอซีทีนิเทศศาสตร์ ศิลปากร ปี 1