สื่อกระแสหลัก...สื่อกระแสต่าง |
5 กุมภาพันธ์ 2556 | อ่านแล้ว 58 ครั้ง |
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก http://www.bettoffice.com/framing/
สื่อกระแสหลัก...สื่อกระแสต่าง / ชวัลนารถ ศรีชวนะ ไอซีทีนิเทศศาสตร์ ปี 2 ศิลปากร
การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและกลุ่มผู้ชุมนุมขับไล่รัฐบาล “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ของกลุ่มองค์กรพิทักษ์สยาม (อพส.) นำโดย “พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์” หรือ “เสธ.อ้าย” เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ปีที่แล้ว กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งถูกหยิบยกออกมาพูดเพียงชั่วข้ามคืน
ต่างมีความคิดเห็นกันว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ใคร...ผิดกันแน่ ?
เมื่อดูจากพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์จากหลากหลายสำนัก พบว่า ในหนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 25 พฤศจิกายน 2555 มีการกำหนดกรอบของเหตุการณ์นี้แตกต่างกัน
โดยพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์สื่อกระแสหลักแต่ละฉบับ ที่นำมาเปรียบเทียบเอาไว้นั้น ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า...เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์เดียวกัน แต่ทำไม สื่อจึงเลือกที่จะมองและเสนอคนละแบบกัน ?
จากการนำเสนอข่าวการปะทะการชุมนุม ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ และกลุ่มผู้ชุมนุม ในหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับ เมื่อนำทั้งหมดมาเปรียบเทียบกัน ทำให้นักวารสารศาสตร์ นักวิชาการ หรือแม้แต่ผู้อ่าน สามารถมองเห็นแง่มุมการนำเสนอ ที่มีความแตกต่างในการให้น้ำหนักของข่าว ให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ค่อนข้างชัดเจน
อย่างกรณีการพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ “มติชน” และ “ข่าวสด” มีความหมายที่ค่อนข้างจะให้น้ำหนักเชิงลบไปทางฝั่งผู้ชุมนุม
ขณะที่หนังสือพิมพ์ “ไทยรัฐ” กับ “เดลินิวส์” หรือแม้แต่หนังสือพิมพ์เก่าแก่อย่าง “สยามรัฐ” หนังสือพิมพ์ในเครือเนชั่นอย่าง “คมชัดลึก” และ “แนวหน้า ที่พาดหัวข่าวแบบเอนเอียง และให้น้ำหนักไปทางกลุ่ม “เสธ.อ้าย” และโจมตีฝ่ายรัฐว่า มีการใช้ความรุนแรงเข้ามาปะทะกับม็อบ พร้อมกับชูวาทกรรมในทางเชิดชูว่า “ไม่ยอมให้ใครมาตาย”
แต่พาดหัวข่าวที่ถือว่ามีกระชากอารมณ์ที่สุด และมีจุดยืนที่ค่อนข้างชัดเจน คงหนีไม่พ้นกรณีการพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ “ไทยโพสต์” ที่พาดหัวข่าวด้วยประโยคสั้นๆ แต่บ่งบอกถึงการประณาม โดยใช้คำว่า “ทรราช” พาดพิงไปถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการปะทะกับผู้ชุมนุมที่ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ความมั่นคง
จากดีกรีการพาดหัวข่าวอันร้อนแรงของ “ไทยโพสต์” ที่ลดระดับลงมา (นิดนึง) กับสำนักพิมพ์ “บ้านเมือง” กับพาดหัวข่าว “ตร.ใช้แก๊สน้ำตาถล่มม็อบ หลังปะทะเดือด” ซึ่งได้กล่าวถึงมาตรการในการปะทะกับผู้ชุมนุม โดยใช้แก็สน้ำตาในการสลายม็อบ หลังจากที่มีการปะทะกันเกิดขึ้น
ในขณะเดียวกัน...การพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ ที่มีสุ้มเสียงการสนับสนุนให้ออกมารวมตัวกันชุมนุมอีกครั้งนั้น จะปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์ “โพสต์ทูเดย์” และ “กรุงเทพธุรกิจ” ซึ่งกล่าวในทำนองที่แม้จะมีการยอมแพ้จนประกาศยกเลิกการชุมนุมไปแล้ว แต่ถึงกระนั้น การชุมนุมอาจจะยังมีต่อในครั้งหน้าก็เป็นได้
จากการนำเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์แต่ละสำนักข่าวนั้น...ค่อนข้างที่จะเทไปทางฝ่ายของแกนนำแช่แข็งอย่าง “เสธ.อ้าย” กับกลุ่มผู้ชุมนุม ที่สนับสนุนการแช่แข็ง มากกว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งโดนพาดพิงถึงการทำงานเกินกว่าเหตุอย่างชัดเจน
การพาดหัวข่าวที่ให้มุมมองแตกต่างกันนั้นในทฤษฎีด้านสื่อมวลชนทฤษฎีหนึ่งมีการพูดถึงเรื่องนี้ซึ่งเรียกว่า “การกำหนดกรอบ (Framing)” ว่าเป็นเรื่องของการสร้างกรอบให้กับเหตุการณ์ใดๆ เพื่อให้ผู้รับสารทำความเข้าใจ และรับรู้ ตามกรอบที่ถูกสร้างขึ้น
โดยสื่อกำหนดเนื้อหาและวิธีการนำเสนอว่า หัวข้อนั้น ผู้อ่าน หรือผู้รับสารควรสนใจประเด็นไหน อย่างไร และควรจะจดจำมันอย่างไร
ความเป็นกลางในการทำงานข่าวของนักวารสารศาสตร์นั้น...ทุกวันนี้ แม้ประชาชนส่วนใหญ่จะมีความเข้าใจว่าเป็นไปตามความหมายของความเป็นกลางแบบง่ายๆ เลยว่า ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ไม่เอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง
แต่ในความเป็นจริง การเสนอข่าวโดยเฉพาะพาดหัวข่าว มีการสร้างความหมายให้กับปรากฏการณ์แบบหนึ่งแบบใดเสมอ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผล จุดยืนทางการเมือง การสร้างความหวือหวาเพื่อการขายกลุ่มผู้อ่านของตนเอง
พาดหัวข่าวจึงเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่สะท้อนพรหมแดนแห่งการแย่งชิงการสร้างนิยามความหมายให้กับเรื่องใดๆ ที่ดุเดือด โดยเฉพาะในเรื่องการเมืองยุคที่ประชาธิปไตยบ้านเรายังไม่ลงหลักปักฐานดังเช่นทุกวันนี้
**ขอขอบคุณภาพประกอบจาก http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1353818720&grpid=01&catid=01