เสียงถึงว่าที่ผู้ว่ากทม. ...ทำไมคนกรุงไม่ข้ามสะพานลอย? |
7 กุมภาพันธ์ 2556 | อ่านแล้ว 49 ครั้ง |
เสียงถึงว่าที่ผู้ว่ากทม. ...ทำไมคนกรุงไม่ข้ามสะพานลอย?
ท่ามกลางการรณรงค์ของหน่วยงานต่างๆในกรุงเทพมหานครเพื่อกระตุ้นให้ผู้คนใช้สะพานลอยข้ามถนนมากขึ้น
แต่ทว่า การรณรงค์นั้นเหมือนเสียงนกเสียงกา เพราะคนจำนวนมากยังเลือกที่จะเดินตัดหน้ารถเพื่อข้ามถนน
พ.ต.ต.วีระพัฒน์ ตันศรีสกุล ผู้บังคับการตำรวจจราจร เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อสำนักหนึ่งไว้ว่า ทางแก้เรื่องนี้ต้องใช้ไม้แข็งโดยตั้งจุดปรับสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนไม่ข้ามทางม้าลายและสะพานลอย โดยพื้นที่ที่เริ่มมีการตั้งโต๊ะปรับ คือ ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถนนสีลม แยกราชประสงค์ แยกบ้านแขก และหน้าห้างดิโอลด์สยาม
แม้ว่าจะมีมาตรการออกมาเพื่อบังคับให้ใช้สะพานลอยเพื่อข้ามถนน แต่หากประชาชนเพิกเฉยก็คงทำให้มาตรการนี้เป็นเพียง “เสือกระดาษ” เช่นเดียวกับมาตรการอื่นๆ
ก่อนอื่นคงต้องตั้งคำถามก่อนว่า ทำไมคนกรุงถึงไม่ชอบข้ามสะพานลอย?
เหตุผลอาจเป็นเพราะว่า มันไม่ได้ให้ความสะดวกสบาย หรือ ความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต
จากการถกเถียงกันในเว็บไซต์แห่งหนึ่งเกี่ยวกับเหตุผลที่ว่า สะพานลอยนั้นมีข้อบกพร่องอย่างไร ทำไมประชาชนถึงไม่ค่อยนิยมใช้ พบว่า สะพานนั้นมีความชัน เพราะต้องออกแบบมาให้สูงเพื่อป้องกันอุบัติเหตุอย่างที่เคยเกิดขึ้น คือ รถสิบแปดล้อเกี่ยวสะพานลอยตกถนนบริเวณถนนกาญจนาภิเษกขาเข้า ก่อนถึงทางต่างระดับฉิมพลี
จุดนี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้คนส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงที่จะใช้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอาการข้อเข่าเสื่อม และบุคคลที่มีโรคกลัวความสูง
นอกจากนี้ การออกแบบตัวสะพานลอยก็ทำให้คนข้ามเหนื่อยล้า เพราะไม่ตรงตามมาตรฐาน
โดยเฉพาะขั้นบันไดที่สัดส่วนไม่พอดีสำหรับเท้า
สัดส่วนของบันไดที่เหมาะสมนั้นต้องมีความกว้างไม่ต่ำกว่า 90 เซนติเมตร ความสูงของแต่ละขั้นบันไดสูงไม่เกิน 20 เซนติเมตร พื้นที่ที่ใช้เหยียบ กว้างไม่น้อยกว่า 25 เซนติเมตร เพื่อให้มีพื้นที่วางเท้าได้พอดีแล้วก้าวเท้าเหมือนกับการเดินปกติ
นอกจากปัญหาดังกล่าวก็ยังมีอาชญากรรมที่เกิดบนสะพานลอยอยู่บ่อยครั้งไม่ว่าจะเป็น ทะเลาะวิวาท เหตุการณ์ฆ่าข่มขืน ปล้นจี้ และฉกชิงวิ่งราว เนื่องจากสะพานลอยตั้งอยู่ในจุดเปลี่ยว มืด หรือมีป้ายบอกทางบนถนนบดบัง
ความเชื่อมั่นของประชาชนเกี่ยวกับความปลอดภัยเมื่อข้ามสะพานลอยนั้นน้อยลงไปอีก
พื้นที่ที่ประชาชนเลือกที่จะเดินข้ามถนนมากที่สุดจึงกลับกลายเป็น ใต้สะพานลอย หรือ เงาของสะพานลอยนั่นเอง
อาจเป็นเพราะค่านิยมที่ว่า กลัวโดนแดดเพราะจะทำให้ตัวดำ โดยสะพานลอยที่สร้างขึ้นไม่มีหลังคาบังแสงนั้นก็สร้างโดยกทม.
ในทางกลับกัน สะพานลอยที่ภาคเอกชนสร้างขึ้นเพื่อเป็นสาธารณะประโยชน์กลับมีประชาชนใช้บริการจำนวนมากเพื่อสัญจรแทนที่การเดินตัดหน้ารถ เช่น รถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีปลายทางหมอชิต สะพานลอยหน้าอาคารไทยพีบีเอส สกายวอล์กบริเวณห้างสรรพสินค้า มาบุญครอง
นอกจากนี้อาจเป็นเพราะว่าการข้ามสะพานลอยนั้นยุ่งยาก เสียเวลา ประชาชนส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะใช้ทางม้าลายหรือเสี่ยงเดินตัดหน้ารถ ในช่วงเวลาที่เร่งรีบ ซึ่งอาศัยจังหวะที่ไม่มีรถผ่านเดินข้ามถนน
พฤติกรรมของประชาชนเป็นตัวสะท้อนจุดบกพร่องของสะพานลอยที่สร้างขึ้นได้เป็นอย่างดี ซึ่งสามารถแก้ไขได้ตามแต่ละจุดที่มีความบกพร่อง
ขั้นแรกคือต้องสร้างสะพานลอยให้ได้มาตรฐานโดยพื้นบันได้ต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร ขั้นบันไดแต่ละขั้นสูงไม่เกิน 20 เซนติเมตร
ส่วนพื้นบันไดควรจะเป็นพื้นยางที่มีคุณสมบัติลดแรงกระแทก โดยมีจุดประสงค์เพื่อดูดซับน้ำหนักตัวของผู้ที่ขึ้นบันได ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดอาการปวดข้อได้
นอกจากนี้ ทางเดินข้ามสะพานควรจะมีพื้นยางหยาบเพื่อป้องกันการลื่นเวลาเดินข้ามตอนพื้นเปียก โดยพื้นต้องมีความเรียบเสมอกัน เพื่อไม่ให้มีน้ำขังบริเวณพื้นสะพาน
ที่สำคัญควรจะมีกล้องวงจรปิดซุกซ่อนอยู่ตามจุดต่างๆ อย่างทั่วถึง เพื่อจับตาหากมีการเกิดอาชญากรรม
รวมทั้งยังต้องมีร่มกรองแสงซึ่งมีคุณสมบัติกรองแสง 70% เพื่อให้ผู้หลีกเลี่ยงการปะทะกับแสงแดดหันมาข้ามสะพานลอยกันมากขึ้น
ปัญหาดังกล่าวสามารถมองไปถึงการนำเสนอนโยบายของบรรดาว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเพื่อครองใจคนกรุงเทพฯได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการจราจร การเดินทาง ฯลฯ ที่ต่างเสนอกันออกมาอย่างมากมาย
แต่การปราศรัยหาเสียงเหล่านั้น กลับไม่มีนโยบายเกี่ยวกับปรับปรุงการสร้างสะพานลอยเลยแม้แต่นิดเดียว
หากพวกท่านได้หาเสียงกับประชาชนแล้วว่า จะดูแลคนกรุงเทพฯให้มีความสุข แล้วไฉนยังละเลยต่อสิ่งเล็กๆที่สะท้อนการปฏิบัติหน้าที่บริการสาธารณะอย่างเช่น การสร้างสะพานลอยกันเล่า
เรื่องโดย สรรพศิริ เชาว์เสาวภา ไอซีทีนิเทศศาสตร์ ศิลปากร ปี 2