เสียงถึงว่าที่ผู้ว่ากทม. ตอนที่ 2 …พื้นที่สีเขียวกับปอดคนกรุง |
11 กุมภาพันธ์ 2556 | อ่านแล้ว 170 ครั้ง |
เสียงถึงว่าที่ผู้ว่ากทม. ตอนที่ 2 …พื้นที่สีเขียวกับปอดคนกรุง
เมื่อเร็วๆนี้มีข้อมูลที่น่าสนใจเรื่อง “พื้นที่สีเขียว” ในเมืองใหญ่ต่างๆ ซึ่งพบว่ากรุงเทพมหานครมีพื้นที่สีเขียวน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับเมืองใหญ่ทั่วโลก อาทิ สิงคโปร์มีพื้นที่สีเขียวในเมืองประมาณ 66 ตารางเมตรต่อคน
ขณะที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยตึกสูง แต่ก็มีพื้นที่สีเขียวประมาณ 38 ตาราเมตรต่อคน
หรือกรุงโตเกียวในประเทศญี่ปุ่นที่ยอมรับว่ามีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในเมืองก็มีพื้นที่สีเขียว 12 ตารางเมตรต่อคน
แต่กรุงเทพมหานครเมืองหลวงของประเทศไทย กลับมีพื้นที่สีเขียวเพียง 3 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งต่ำกว่าที่องค์กรอนามัยโลกได้กำหนดไว้ที่ 9 ตารางเมตรต่อคน
ปัญหาดังกล่าวเกิดจากจำนวนประชากรที่เข้ามาทำงานเพื่อหาโอกาสในการทำมาหากินเพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น
พื้นที่ที่มีอยู่ในกรุงเทพฯก็ถูกนำมาทำเป็นที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน สถานประกอบการอยู่อย่างแออัด
ผู้บริหารกรุงเทพมหานครที่ผ่านๆมา แม้จะดูเสมือนว่าให้ความสนใจในการทำให้ผู้คนที่เข้ามาอาศัยในเมืองนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ก็ทำไม่ได้มากนัก
อย่างกรณีนี้ก็ส่งผลให้ปัญหามลพิษทางอากาศกลายเป็นปัญหาคุกคามคุณภาพชีวิตของประชากรเมืองกรุง
ข้อมูลจากสำนักการแพทย์กรุงเทพมหานครปี 2548-2554 พบว่า คนกรุงเทพฯมีปัญหาด้านสุขภาพเกี่ยวกับทางเดินหายใจไม่ว่าจะเป็นโรคหอบหืด หรือภูมิแพ้สูงขึ้นทุกปีโดยเฉลี่ยปีละประมาณ 20,000 – 30,000 คน
สาเหตุปัญหาด้านสุขภาพนี้ก็เป็นผลมาจากมลพิษทางอากาศซึ่งมาจากท่อไอเสียของผู้ใช้รถยนต์ทุกๆคันไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้อยู่เดิมหรือผู้ใช้รายใหม่
นอกจากความรู้ทั่วไปที่ว่าท่อไอเสียจะปล่อยก๊าซคาบอร์นมอนนอกไซด์ที่เป็นมลพิษแล้ว ยังมีปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10ไมครอน ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยสำคัญให้เกิดโรคทางเดินหายใจ
และคนนั่งรถเมล์ต้องสูดกันอยู่ทุกๆวัน
การขาดแคลนพื้นที่สีเขียวเพื่อช่วยกรองอากาศเสียไม่เพียงทำให้เกิดปัญหาด้านมลพิษ หรือด้านสุขภาพเท่านั้น
แต่ยังหมายถึงการที่สภาพอากาศในกรุงเทพมหานครมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น ปีละ 4-5 องศาเซลเซียส จนกรุงเทพมหานครมีสภาพกลายเป็นเกาะร้อน
แผนแม่บทที่ว่าด้วยการแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนของกรุงเทพมหานครเมื่อปี 2550-2555 โดยให้มีการปลูกต้นไม้เพิ่มในเขตพื้นที่กลับไม่ถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่ ทำให้การปลูกต้นไม้ของกรุงเทพมหานครไม่เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติ
ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN มองว่ากรุงเทพมหานครมักอ้างว่า กรุงเทพมีต้นไม้เพิ่มขึ้นทุกปี แต่กลับไม่สามารถลดมลพิษทางอากาศได้ ก็เป็นผลมาจากกรุงเทพมหานครจัดปลูกต้นไม้ประดับมากกว่าการปลูกต้นไม้ใหญ่ หรือจัดสวนสาธารณะกระจายทั่วกรุงเพื่อฟอกอากาศอย่างแท้จริง
เห็นได้ว่าโดยการดำเนินนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพมหานครยังคงเป็นปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและตรงจุด เป็นผลให้ปัญหายิ่งพอกพูนสาหัสขึ้นทุกวัน
อีกปัญหาหนึ่งที่คนอาจมองข้ามไปคือการตัดต้นไม้จากการไฟฟ้านครหลวงเพื่อรักษาความปลอดภัยไม่ให้กิ่งก้านของต้นไม้ไม่ให้ไปโดนสายไฟ
แต่สายไฟที่ระโยงระยางอยู่บนเสาไฟนั้นก็เป็นปัญหาความสุ่มเสี่ยงความปลอดภัยและทัศนียภาพ
แม้บรรดาผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหลายคนที่กำลังแข่งขันกันหาเสียงเรียกคะแนนในขณะนี้ต่างหยิบยกเรื่องพื้นที่สีเขียวขึ้นเป็นประเด็นหนึ่งในการหาเสียง
หลายคนพูดถึงมาตรฐานเมืองน่าอยู่ว่า ควรมีพื้นที่สีเขียวอย่างน้อย 30 ตารางเมตรต่อคน
อย่างไรก็ดี บรรดาปัญหาต่างๆที่กล่าวไปนั้นต่างเชื่อมโยงกัน
การจะดำเนินการแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่งเพียงปัญหาเดียวโดยไม่มองให้รอบด้านจึงไม่ได้
เมื่อแก้ปัญหาหนึ่งไป ปัญหาใหม่ที่เชื่อมโยงกันก็จะตามมา การแก้ปัญหานี้จึงควรเป็นไปอย่างมีระบบมีการวางแผน
ทำอย่างไรจะสร้างเงื่อนไขเพื่อให้ลดการใช้รถยนต์
กทม.ร่วมกับตำรวจสามารถเข้มงวดเรื่องพื้นที่จอดรถได้หรือไม่
การเพิ่มสวนสาธารณะตามพื้นที่ต่างๆโดยใช้การปรับพื้นที่โดยไม่ต้องเวนคืน
การปลูกต้นไม้ใหญ่บริเวณทางเท้าหรือเกาะกลางถนนที่คำนึงไปถึงพื้นที่ใช้สอยและความปลอดภัยเกี่ยวกับสายไฟ
การคำนึงถึงความปลอดภัยในเวลากลางคืนที่เกิดจากการเปิดสวนสาธารณะแต่ไฟส่องสว่างกลับไม่เพียงพอจนอาจนำมาซึ่งอาชญากรรมต่างๆ
จะทำให้ผู้คนที่มาอยู่ร่วมกันในเมืองใหญ่ อยู่แบบยอมรับกันได้ ไม่ชี้นิ้วโทษกัน ไม่ผลักไล่ไสสงกันอย่างไร
ดังนั้นว่าที่ผู้บริหารกรุงเทพฯควรแสดงวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ และแผนแม่บทอย่างจริงจัง ที่สามารปฏิบัติได้จริง และเกิดประโยชน์ต่อสภาพแวดล้อม และความเป็นอยู่ของคนกรุง
เพราะประชาชนต้องได้รับการประกันถึงคุณภาพชีวิตที่ดี
อนาคตกรุงเทพที่มีต้นไม้เขียวขจีคงเป็นจริงได้หากกรุงเทพมหานครจะเริ่มแก้ปัญหาอย่างจริงจังเสียที
ไม่เช่นนั้นเลือกเข้ามาแล้วแต่ทำให้เห็นจริงไม่ได้ คนเขาก็จะไม่เลือกอีก
เรื่องโดย น.ส.ปิยดา สาครินทร์ ไอซีทีนิเทศศาสตร์ ศิลปากร ปี 2